วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559

อินซูลินคืออะไร

อินซูลิน(Insulin) คือ ฮอร์โมนชนิดอนาโบลิคโพลีเปปไทด์(Anabolic Polypeptide)ที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตโดยนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์(Cell)ตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายเพื่อใช้ในการสร้างพลังงานและสร้างเซลล์(Cell)ต่างๆ แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งร่างกายมีปริมาณอินซูลิน(Insulin)ไม่เพียงพอก็จะทำให้มีปริมาณน้ำตาลค้างอยู่ในเลือดสูงขึ้นมากเพราะไม่ถูกนำไปใช้

     คำว่าอินซูลิน(Insulin) มาจากภาษาละตินคำว่า”insula” หรือ “island” ที่แปลว่า”เกาะ” เป็นเพราะว่าอินซูลิน(Insulin)ถูกสร้างจากไอส์เลตส์ออฟแลงเกอร์ฮานส์(islets of Langerhans)ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์(Cell)ในตับอ่อน
     อินซูลิน(Insulin) ประกอบด้วยกรดอะมิโน 51 ชนิดรวมกันอยู่ และมีน้ำหนักโมเลกุล 5808 Da
     โครงสร้างของอินซูลิน(Insulin) จะแตกต่างกันเล็กน้อยตามชนิดของสัตว์ อินซูลิน(Insulin)จากสัตว์แต่ละชนิดจะแตกต่างกันในด้านความสามารถในการควบคุมพลังการทำงาน (เช่น ในด้านการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต)
     อินซูลิน(Insulin)ที่ได้จากหมูมีความคล้ายคลึงกับอินซูลิน(Insulin)ของคนอย่างมากที่สุด

เทคโนโลยีชีวภาพ

   เทคโนโลยีชีวภาพ ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็คือ เทคโนโลยีการหมัก (Fermentation Technology) โดยเทคโนโลยีชีวภาพเมื่อก่อนมักนำไปใช้กับทางด้านอาหารและด้านการเกษตร
     การค้นพบ โครงสร้างของสารพันธุกรรม หรือ DNA โดยเจมส์ วัตสัน และฟรานซิส คริก ในปี พ.ศ. 2496 ต่อมามีการค้นพบเอนไซม์ตัดจำเพาะในแบคทีเรีย โดยเวอร์เนอร์ อาร์เบอร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2500-2510 ในปี พ.ศ. 2516 เอนไซม์ตัดจำเพาะนี้ถูกนำไปทดลองใช้ในการทดลองตัดยีนจากแบคทีเรียเซลล์หนึ่ง แล้วนำไปใส่ให้แบคทีเรียอีกเซลล์หนึ่งเป็นผลสำเร็จ โดยแสตนลีย์ โคเฮน และเฮอร์เบิร์ด โบเยอร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 มีการนำยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น (ที่ไม่ใช่ของแบคทีเรีย) ไปใส่ในแบคทีเรียเป็นผลสำเร็จ ซึ่งนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าด้านนี้อย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญมีการตัดต่อยีนของมนุษย์ที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนใส่ลงในเซลล์ แบคทีเรียที่ชื่อ E. coli ซึ่งทำให้แบคทีเรียสร้างฮอร์โมนของมนุษย์ออกมาได้เป็นผลสำเร็จ
     จากสิ่งที่ค้นพบเหล่านี้ทำให้เกิด เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ คือ เทคโนโลยีรีคอมบิแนนท์ดีเอ็นเอ (DNA Recombinant Technology) หรือ พันธุวิศวกรรม ( Genetic engineering )
   การโคลนนิ่ง (Cloning) คือ การคัดลอก หรือการทำซ้ำ ให้มีลักษณะเหมือนเดิมทุกประการ
     หากกล่าวเรื่อง การโคลนนิ่ง (Cloning) ในแง่ของสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวพันถึงเทคโนโลยีชีวภาพแล้ว
     การโคลนนิ่ง (Cloning) คือ กระบวนการสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศชนิดหนึ่ง โดยสิ่งมีชีวิตที่ถูกโคลนออกมาจะมีลักษณะทางพันธุกรรม โดยรวมถึงมีลักษณะทางกายภาพ เหมือนกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบ หรือ สิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ก่อนแล้วทุกประการ
     โดยคำว่าโคลน (Clone) นั้นมาจากภาษากรีกจากคำว่า “Klone” ซึ่งแปลว่า แขนง กิ่ง ก้าน โดยใช้อธิบายการแบ่งตัวแบบไม่อาศัยเพศ (Asexual) ของในพืชและสัตว์
     และโดยที่คำว่าโคลน จะถูกใช้เรียกสิ่งที่ถูกโคลนออกมาจากสิ่งมีชีวิตต้นแบบ
     ตัวอย่างของลักษณะสิ่งมีชีวิตที่ได้จากการโคลนนิ่ง (Cloning) เช่น มีเพศเหมือนกัน มีหมู่เลือดเหมือนกัน เป็นต้น
     หากกล่าวถึงเรื่อง การโคลนนิ่ง (Cloning) สัตว์ซึ่งปกติแล้วสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศแล้ว
     การโคลนนิ่ง (Cloning) คือ การสร้างสัตว์ตัวใหม่ขึ้นมาโดยไม่ใช้เซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์เพศผู้หรืออสุจิของสัตว์เพศผู้ แต่ใช้นิวเคลียสจากเซลล์เต็มวัยของเซลล์ร่างกายของสัตว์เพศอะไรก็ได้ใส่ลงไปที่เซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์เพศเมียหรือเซลล์ไข่โดยนำสารพันธุกรรม หรือ DNA ที่มีอยู่ในเซลล์สืบพันธุ์ของเพศเมียหรือเซลล์ไข่ออกก่อน แล้วนำเซลล์สืบพันธุ์ของเพศเมียหรือเซลล์ไข่ใส่ไปในตัวเพศเมียเพื่อให้คลอดออกมา เมื่อคลอดออกมาทำให้ได้สัตว์ตัวใหม่ที่มี รูปร่าง หน้าตา ลักษณะภายนอก เหมือนกับสัตว์ตัวที่เป็นเจ้าของเซลล์เดิมเกือบทุกประการ และมีพันธุกรรมเหมือนกับสัตว์ตัวที่เป็นเจ้าของเซลล์เดิมทุกประการ ถ้าเจ้าของเซลล์เป็นเพศเมียก็จะได้สัตว์ให้เป็นเพศเมีย ถ้าเจ้าของสัตว์เป็นเพศผู้จะได้สัตว์ใหม่เป็นเพศผู้ เหมือนกับเจ้าของเซลล์เดิมทุกประการ